วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โครงการไหว้พระ ๙ วัด กับ ขสมก. เขตการเดินรถที่ ๑ (อู่บางเขน)

โครงการไหว้พระ ๙ วัด กับ ขสมก. เขตการเดินรถที่ ๑ (อู่บางเขน)


    ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปี ๒๕๕๙ ที่ผ่านมานี้ทาง ขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ได้ให้บริการพาผู้โดยสารเดินทางไหว้พระ ทำบุญ วันละ ๙ วัด มาตลอดทั้งปี เริ่มจากปีใหม่ปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ก็ได้พาไปไหว้พระ ๙ วัดกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็มีโครงการพาผู้โดยสาร ที่เรียกกันใหม่ว่า ลูกทัวร์ ไปไหว้พระทำบุญวันละ ๙ วัด ตามต่างจังหวัด ที่สามารถ ไปเช้าเย็นกลับได้ โดยแต่ละเขตการเดินรถก็มี โปรแกรมไหว้พระ ทำบุญ ออกมาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะเขตการเดินรถที่ ๑ ที่เรารู้จักกันในนาม อู่บางเขน ใกล้ๆ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ได้มีโปรแกรมไหว้พระ ทำบุญ ๙ วัด ที่หลากหลาย มากกว่า ๒๐ โปรแกรม โดยแต่ละโปรแกรม จะมีทีมงานออกสำรวจเส้นทาง และติดต่อประสานงานวัดต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายของลูกทัวร์ ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จากวัดต่างๆ


    ในแต่ละโปรแกรมจะผสมผสาน วัดดังๆ ที่เป็นที่รู้จัก ศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป กับ วัดที่ต้องการทุนทรัพย์ในการพัฒนา หรือ ปฏิสังขรณ์ ซึ่งจะทำให้ลูกทัวร์ได้มีโอกาสทำบุญได้อย่างเต็มที่ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ จะแทรกด้วยวัดที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอโชคขอลาภ เช่น ศาลนางไม้ ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ซึ่งมีอยู่หลายวัด จนไปถึง ศาลคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งไทย

    ด้านพนักงาน ทั้งผู้นำทาง พขร. พกส. อัธยาศรัยใจคอ ดีเยี่ยม เรียกว่าคัดมาเป็นพิเศษ ใครที่มีภาพลบเกี่ยวกับมารยาท ของพนักงาน ขสมก. มาไหว้พระ ๙ วัด ต้องเปลี่ยนความรู้สึกใหม่กันทุกคน จนถึงวันนี้ผมได้ร่วมเดินทางมามากกว่า ๓๐ โปรแกรม (รวมโปรแกรมที่ยกเลิกชั่วคราวด้วย) แล้ว ก็ยังได้รับรอยยิ้ม การบริการ และคำพูดที่ไพเราะ เป็นกันเอง จากพนักงานทุกคน ทั้งคันที่ผมเดินทางไปด้วย และคันอื่นๆ ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน


    นอกจากนี้ทาง ขสมก. ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพของรถที่นำมาให้บริการเป็นอย่างมาก รถทุกคันจะถูกตรวจสอบตั้งแต่วันศุกร์ ระบบน้ำมัน ระบบยาง และน้ำยาแอร์ จะถูกเปลี่ยนใหม่ก่อนให้บริการในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ รับประกันว่า แอร์เย็นสบายหายห่วง

    โครงการไหว้พระ ๙ วัด เปิดโอกาสให้นักแสวงบุญที่ต้องการเดินทางไปไหว้พระ ได้ทำบุญตามวัดต่างๆ และวัดร่วมร้อยกว่าวัดที่ มีโอกาส ได้ทุนทรัพย์ จากกำลังศรัทธาของนักแสวงบุญ ที่จะนำไปใช้ ในการบำรุงรักษา พัฒนา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป และ ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ มีรายได้จากกำลังซื้อของลูกทัวร์ไพว้พระ ๙ วัดของ ขสมก



วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

หลวงพ่อกลั่น ชาตรี ย้อนยุค 2507 วัดพระญาติการาม

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

“ตักบาตรหาบจังหัน” แง่งามในวิถีธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แห่ง “บ้านหาดสองแคว” อุตรดิตถ์

“ตักบาตรหาบจังหัน” แง่งามในวิถีธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แห่ง “บ้านหาดสองแคว” อุตรดิตถ์


ชาวบ้านหาดสองแควหาบจังหันไปที่วัด
 

       ภาพที่คุ้นชินในยามเช้าตรู่ตามต่างจังหวัด คือภาพคนเฒ่าคนแก่ออกมายืนรอเตรียมอาหารใส่บาตรพระ บรรยากาศยามเช้าที่เย็นสบาย เสียงต่างๆ รอบตัวยังคงเงียบสงบ พระสงฆ์จีวรสีเหลืองส้มออกบิณฑบาตไปยังบ้านต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญกัน
      
       ที่ “บ้านหาดสองแคว” อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ก็เป็นดังเช่นหมู่บ้านในต่างจังหวัดอื่นๆ ซึ่งบ้านและวัดยังคงผูกพันกันเหนียวแน่น แต่การใส่บาตรยามเช้าของคนหาดสองแควไม่ธรรมดาเหมือนที่อื่นๆ เพราะเป็นการ “ตักบาตรหาบจังหัน” ที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น

กับข้าวใส่บาตรเตรียมพร้อมอยู่ในจังหัน
 

       ก่อนอื่นขอพาไปทำความรู้จักกับ “บ้านหาดสองแคว” กันก่อน หมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นมายาวนาน บริเวณที่ตั้งชุมชนมีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำน่านและคลองตรอน ทำให้เกิดหาดสันทรายเป็นแนวยาวจนกลายเป็นชื่อเรียกของหมู่บ้าน
      
       นอกจากนั้น ผู้คนในท้องถิ่นยังมีเชื้อสาย “ลาวเวียง” หรือเชื้อสายของชาวลาวจากเมืองเวียงจันท์ ประเทศลาว ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกองโค (ขึ้นกับ ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) และได้ขยายถิ่นฐานขึ้นมาทางทิศเหนือคือบ้านหาดสองแควในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านหาดสองแควกว่า 90% ยังคงพูดคุยกันด้วยภาษาลาวเวียง กินอาหาร และมีวัฒนธรรมแบบชาวลาวเวียงอยู่จนปัจจุบัน

ทั้งชายหญิงต่างก็ช่วยกันหาบจังหันได้เช่นกัน
 

       ส่วนการตักบาตรยามเช้าของคนบ้านหาดสองแควที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นการตักบาตรธรรมดาที่ไม่ธรรมดานั้น เรียกว่า “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ "ประเพณีการการหาบสาแหรก" ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดย รัตนะ เสริมมา ประธานสภา อบต.หาดสองแคว เป็นผู้เล่าให้ฟังว่า คำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ ในยามเช้า พระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน เดินไปจนสุดเส้นทางแล้วก็จะเดินกลับโดยยังไม่มีชาวบ้านคนใดออกมาใส่บาตร ขณะที่พระเริ่มเดินกลับนี่เอง ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตร

 

มุ่งหน้าไปยังวัดหาดสองแคว
 

       และชาวบ้านที่มารอตักบาตรก็จะใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่นๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งการตักบาตรเฉพาะข้าวเปล่าแล้วค่อยนำอาหารไปถวายที่วัดนี้มักพบเห็นในประเทศลาว หรือจังหวัดในภาคอีสานของไทย เช่นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นต้น ต่างกันตรงที่เป็นการตักบาตรข้าวเหนียวแทนข้าวสวย
      
       ความพิเศษที่น่ารักของการตักบาตรหาบจังหันอยู่ตรงการนำกับข้าวไปถวายพระที่วัดนั่นเอง โดยเมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกไม้คานสายละ 3-4 คน นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่วางบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัด

 

เตรียมนำอาหารไปถวายพระ
 

       “คนที่ทำหน้าที่หาบสาแหรกนั้นจะเป็นใครชายหรือหญิงก็ได้ ไม่ได้กำหนดตายตัว ไม่ได้เป็นหน้าที่ประจำ ใครว่างก็หาบไป แต่ก็มีคนหาบทุกวันไม่เคยขาด จะรู้กันว่าวันนี้ใครอยู่ไม่อยู่ ใครติดธุระ ใครจะหาบแทน จะทำอย่างนี้ทุกวัน ยกเว้นวันพระที่ทุกคนจะหาบข้าวปลาอาหารไปที่วัดกันเอง โดยพระไม่ได้ออกบิณฑบาต” รัตนะ กล่าว
      
       และหลังจากที่คนหาบจังหันไปยังวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดโดยไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม ผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคนอาหารพระ แล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็จะนำอาหารมากินกัน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามผิดบ้าน

ศรัทธาของชาวบ้านหาดสองแควในพระพุทธศาสนายังเหนียวแน่น
 

       “การหาบจังหันเป็นกุศโลบายที่เชื่อว่า ยิ่งหาบหนักยิ่งได้บุญมาก” รัตนะ กล่าวเสริม
      
       นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีเล็กๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความน่ารักจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ซึ่งหากใครอยากมีโอกาสใส่บาตร ได้เห็น หรือได้หาบ ก็สามารถมาเยือนกันได้ที่บ้านหาดสองแคว โดยวิธีหนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการมาสัมผัสวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดก็คือการมาพักที่ “โฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว” โฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานถึง 20 หลัง

บรรยากาศของ 1 ในบ้านพักโฮมสเตย์ที่บ้านหาดสองแคว
 

       ผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ก็ยังจะได้มาชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบของชาวลาวเวียง (คลิกอ่านได้ที่นี่) ได้ทำบุญไหว้พระที่วัดหาดสองแคว ซึ่งชาวบ้านยังคงมีความผูกพันกับวัด เห็นได้จากในทุกๆ วันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญกันจนเต็มศาลาวัด อีกทั้งที่วัดหาดสองแควยังมีพระเครื่องที่ขึ้นว่าเป็นของดีของขลังให้คนได้เช่าบูชา ได้ปั่นจักรยานเที่ยวชมบรรยากาศในหมู่บ้าน ใช้ชีวิตช้าๆ สบายๆ แบบไม่เร่งรีบ และยังจะได้ชมบรรยากาศของแม่น้ำน่าน ได้ขึ้นแพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน่าน
มุมนั่งเล่นผ่อนคลายของโฮมสเตย์หลังหนึ่งในบ้านหาดสองแคว
 

       งานเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของบ้านหาดสองแควอีกงานหนึ่งก็คือ “งานย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์” ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี ณ วัดหาดสองแคว เพื่อย้อนรำลึกวันที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสมายังเมืองตรอน (ชื่อเดิมคือตรอนตรีสินธุ์) ผู้คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายย้อนยุคสมัย ร.5 มาร่วมย้อนอดีตวิถีชีวิตชุมชน โดยมีอาหารและขนมท้องถิ่น (กาดมั่ว) ให้ชิมกันฟรีๆ อีกด้วย
บรรยากาศห้องนอนของบ้านพักโฮมสเตย์
 

       และนอกจากวัดหาดสองแควที่เป็นวัดคู่ชุมชนแล้ว ไม่ไกลจากบ้านหาดสองแควยังมี “วัดบ้านแก่งใต้” เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน ซึ่งมี “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปอกแตก เนื่องจากองค์หลวงพ่อเพชรเกิดกะเทาะชำรุดบริเวณหน้าอก ทำให้เห็นว่าด้านในมีองค์พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซ่อนอยู่ เนื่องจากเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ต้องการปกป้องพระพุทธรูปมีค่าให้พ้นจากการขโมยหรือทำลายโดยข้าศึก จึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่กว่าครอบปกป้องไว้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปปูนเกิดกะเทาะจนทำให้เห็นพระพุทธรูปที่ซ่อนไว้ด้านในดูน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อเพชร พระอกแตกแห่งวัดบ้านแก่งใต้

       และนี่ก็คือวิถีชีวิตชุมชน การตักบาตรหาบจังหัน และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของบ้านหาดสองแคว ที่หากใครอยากจะรู้จักก็ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง
      
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
      
       ค่าใช้จ่ายที่พักโฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว ราคา 350 คน/คืน ราคานี้รวมค่าที่พัก อาหารเย็น/เช้า และอาหารใส่บาตร ติดต่อสอบถามที่พักโฮมสเตย์ได้ที่ สนิท ดีเพ็ชร ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ โทร.08 4505 4672 หรือ อบต.หาดสองแคว โทร.0 5549 6098 หรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร.0-5452-1118,0-5452-1127


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ใส่บาตรเทียน ประเพณีเปี่ยมศรัทธา เก็บตกวันเข้าพรรษา จ.น่าน

ใส่บาตรเทียน ประเพณีเปี่ยมศรัทธา เก็บตกวันเข้าพรรษา จ.น่าน
 

พระประธานภายในพระอุโบสถวัดบุญยืน

       วันเข้าพรรษาเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ความประทับใจที่ได้จากการไปร่วมงานประเพณี “ใส่บาตรเทียน” ที่วัดบุญยืน อ.เวียงสา จังหวัดน่าน ยังไม่หมดสิ้น ด้วยความที่เป็นประเพณีเล็กๆ แต่น่ารัก และอบอวลไปด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน วันนี้จึงขอนำเรื่องราวและภาพบรรยากาศในงานประเพณีใส่บาตรเทียนที่วัดบุญยืนเมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมามาให้ชมกัน
พุทธศาสนิกชนนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมมาถวายพระเพื่อเป็นการขอขมา
     
ถวายด้วยความตั้งใจ

       ประเพณีใส่บาตรเทียนจะจัดขึ้นหลังผ่านพ้นวันเข้าพรรษาไป 1 วัน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เหล่าผู้รู้ในเวียงสาสันนิษฐานตรงกันว่า กำเนิดของการใส่บาตรเทียนน่าจะเริ่มขึ้นราวๆปี พ.ศ. 2344 หลังเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สร้าง “วัดบุญยืน” ได้ 1 ปี
     
       วัดบุญยืนถือเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเวียงสา เป็นสถานที่หลักที่ใช้ในประเพณีใส่บาตรเทียนมาช้านาน เพราะเป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภอและพระเถระที่มีอาวุโสอยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร

พระสงฆ์ชั้นผู้น้อยก็ร่วมถวายเทียน ดอกไม้ และน้ำส้มป่อยเพื่อขอขมาพระชั้นผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
   
พระภิกษุ-สามเณรจะค่อยเดินออกมาจากโบสถ์ นำเทียนมาใส่ในบาตร

       การถวายเทียนเพื่อให้พระ-เณร ได้ใช้แสงสว่างศึกษาพระธรรมวินัยและใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆนั้น ยังมีนัยยะแฝงการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และการแสดงความอ่อนน้อมของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่จะคารวะกัน โดยยึดถือจำนวนพรรษาหรือปีที่บวชเป็นสำคัญ มากกว่าสมณศักดิ์หรือตำแหน่งในคณะสงฆ์
     
       ประเพณีใส่บาตรเทียนที่จะแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วงสาย พระภิกษุ-สามเณรในเวียงสา และพุทธศาสนิกชน จะนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม มาใส่ลงในภาชนะที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ภายในพระอุโบสถ แล้วฆราวาสก็จะพร้อมใจกันนำอาหารมาถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุ-สามเณร

หลังจากพระสงฆ์ พุทธบริษัทก็จะเดินใส่บาตรเทียนเป็นลำดับต่อไป
     
ทหารก็มาร่วมกับประชาชนใส่บาตรเทียนด้วยเช่นกัน

       จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นช่วงของพิธีใส่บาตรเทียน ซึ่งพระภิกษุ-สามเณรจะค่อยเดินออกมาจากโบสถ์ นำเทียนมาใส่ในบาตรที่ตั้งอยู่บนผ้าอาบน้ำฝนบนโต๊ะยาวหน้าโบสถ์ที่มีทั้งหมด 69 จุด (แทนจำนวน 68 วัด ส่วนอีก 1 จุด นับรวมแทน 11 สำนักสงฆ์ในเวียงสา)
     
       หลังจากพระภิกษุนำขบวนใส่บาตรเทียนแล้ว ก็ถึงคราวของเหล่าพุทธบริษัทที่จะนำเทียนและดอกไม้ที่เตรียมมา เดินใส่บาตรเทียนกันเป็นแถวยาว ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบเปี่ยมศรัทธา

เทียนและดอกไม้ถูกใส่ด้วยศรัทธาจนเต็มบาตร
     
ภิกษุสามเณรทำพิธีสูมาคารวะกับพระชั้นผู้ใหญ่

       และหลังจากนั้น พระภิกษุ-สามเณรจะเดินกลับเข้าในโบสถ์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีสูมาคารวะแก่พระแก้ว 5 โกฐากส์ ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ร่วมด้วย พระกรรมฐาน และพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐาน รวมถึงการขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีอายุพรรษามากตามลำดับ
     
       จากนั้นกระบวนการสุดท้าย พระภิกษุและสามเณรจะแบ่งเทียนและดอกไม้ นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง เพื่อนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นมงคล ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

 
 สามเณรแบ่งเทียนและดอกไม้ นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง
     
 
พระอุโบสถวัดบุญยืน
 

       สิ่งเหล่านี้เมื่อปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้เกิดเป็นประเพณีใส่บาตรเทียนอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน ที่แม้จะมีไฟฟ้าแสงสว่างเข้ามาแทนที่แสงเทียน แต่ชาวเวียงสาก็ยังคงร่วมกันสืบสานประเพณีใส่บาตรเทียนให้คงอยู่สืบมา
 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

นั่งช้าง จิบชา ไหว้พระ ชมนานาศิลปะ “เมืองเชียงราย”

นั่งช้าง จิบชา ไหว้พระ ชมนานาศิลปะ “เมืองเชียงราย”


“พระราชานุสาวรีย์พญามังราย”

       เมื่อพูดถึง “จังหวัดเชียงราย” หลายคนจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่สวยงามและโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งเป็นความฝันของใครหลายคนที่จะมาสัมผัส ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” นั้นก็ได้มีโอกาสมาเยือนจังหวัดแห่งนี้อยู่หลายครั้ง และในครั้งนี้ก็ได้มีโอกาสกลับมาเยือนจังหวัดเชียงรายอีกครั้ง ด้วยการมาร่วมกิจกรรมสำรวจเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ของคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยครั้งนี้จะขอพาเที่ยวในละแวกเขตอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายกัน
      
       เริ่มต้นการเที่ยวครั้งนี้ ด้วยการเดินทางมาสักการะ “พระราชานุสาวรีย์พญามังราย” ตั้งอยู่บริเวณห้าแยกพ่อขุน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนตะลอนเที่ยวเมืองเชียงราย ซึ่งพญามังราย นั้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา และเป็นผู้สร้างจังหวัดเชียงรายแห่งนี้ขึ้นมา โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าไว้ว่า “พญามังรายทรงเสด็จตามช้างมาทางทิศตะวันออกแล้วเห็นชัยภูมิเหมาะแก่การสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำกก จึงสร้างเป็นเวียงล้อมรอบดอยจอมทองไว้ในปี พ.ศ. 1805”

“พระเจ้าล้านทอง”

       ต่อด้วยการมาไหว้พระสวดมนต์ที่ “วัดพระแก้ว” วัดเก่าแก่ของจังหวัดเชียงราย ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง โดยประวัติวัดพระแก้วนั้น เมื่อครั้งอดีตชื่อว่า “วัดป่าเยี้ยะ” ต่อมาในปี พ.ศ.1977 ได้เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าพระเจดีย์และได้พบ ”พระแก้วมรกต” หลังจากนั้นชาวเมืองเชียงรายจึงได้เรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระแก้ว” จนถึงปัจจุบัน
      
       ภายในวัดเป็นที่ตั้งของพระวิหารทรงเชียงแสน ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบยอดพระศกเป็นดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง เป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิปปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

"พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย"

       ยังเป็นที่ตั้งของ “หอพระหยก” อาคารทรงล้านนาโบราณที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้น เนื่องในมหามงคลสมัย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งองค์พระนั้นเป็นหยกจากประเทศแคนาดา และถูกนำมาแกะสลักที่นครปักกิ่ง ประเทศประชาชนจีน พระพุทธรูปหยกองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์แทนพระแก้วมรกตองค์จริง ที่ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
      
       ภายในวัดพระแก้วแห่งนี้ ก็ยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกมากมายให้ได้ชม เช่น “พระเจดีย์” พระเจดีย์ฐานรูปแปดเหลี่ยมที่ได้พบพระแก้วมรกตภายใน ,“โฮงหลวงแสงแก้ว” พิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ เป็นต้น

“บ้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม”

       เสร็จจากการไหว้พระทำบุญ ก็จะขอพามาชม “บ้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ” หรือ “พิพิธภัณฑ์จังหวัดทหารบกเชียงราย” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง บ้านหลังนี้นับเป็นบ้านที่สร้างด้วยปูนหลังแรกของจังหวัดเชียงราย เป็นสถาปัตยกรรมสวิสในยุค ค.ศ. 1942 ที่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านพักรับรองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเดินทางมาตรวจราชการที่ภาคเหนือและเป็นศูนย์บัญชาการภาคพายัพ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของค่ายเม็งรายและได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมและเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
“ดอยศาลารอยพระบาท” เมื่อมองจากจุดชมวิวบ้านจอมพล ป.

       บรรยากาศบริเวณรอบบ้านนั้นมีความร่มรื่นและถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม และยังมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นได้ไกลถึง “ดอยโหยด” หรือ “ดอยศาลารอยพระบาท” ภายในค่ายเม็งรายมหาราช ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ได้ประทับรอยพระบาทของพระองค์ ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เมื่อคราวเกิดความขัดแย้งแนวคิดทางการเมืองในจังหวัดเชียงราย
“บ้านดำ” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ”

       สถานที่ท่องเที่ยวถัดมา เราจะไปเที่ยวและชมงานศิลปะกันที่ “บ้านดำ” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างงดงาม ด้วยฝีมือของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ โดยถูกใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ไว้มากมายหลายชิ้น ทั้งทางด้านภาพเขียน และด้านปฏิมากรรม
บรรยากาศภายใน “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ”

       พิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้านที่เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบล้านนา ทุกหลังทาด้วยสีดำ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” และยังเป็นสีที่ อาจารย์ถวัลย์โปรดปราน ในบ้านแต่ละหลังจะประดับด้วยไม้แกะสลักถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์และศิลปะแบบล้านนา แล้วยังได้ประดับด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาควาย เขากวาง ให้ได้ชม อีกบรรยากาศโดยรอบก็ยังร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ หากใครที่ชื่นชอบงานศิลปะแล้วก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายที่น่าสนใจ
บ้านดินประดับเซรามิกที่ “ดอยดินแดง”

       “ดอยดินแดง” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมชมงานศิลปะที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย โดยเป็นที่จัดแสดงผลงานการปั้นเซรามิกของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิกชาวเชียงราย
เซรามิกหลากหลายสไตล์มีให้ชมที่ “ดอยดินแดง”

       พื้นที่ภายในนั้นเป็นที่ตั้งของบ้านดินที่ได้ถูกตกแต่งและประดับด้วยเซลามิกดูแล้วสวยงามแปลกตา โดยได้มีบ้านดินอยู่หลายหลังด้วย ซึ่งแต่ละหลังก็จะถูกแบ่งเป็นห้องสตูดิโอเก็บรวบรวมผลงาน, ห้องแสดงงานเซรามิกอาร์ต, ห้องแสดงสินค้า, ร้านกาแฟ ให้ผู้ที่มาเยือนได้เพลิดเพลินกับการชมงานเซรามิก และยังสามารถเลือกซื้อเซรามิกที่ถูกใจติดไม้ติดมือกลับบ้านได้อีกด้วย      
   

“ล่องเรือแม่น้ำกก”

       หลังจากเพลิดเพลินกับการเที่ยวชมงานศิลปะกันมาแล้ว ตะลอนเที่ยวก็ไม่ลืมที่จะไปชมความงามของธรรมชาติ เพราะจังหวัดเชียงรายนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงามของป่าเขาและแม่น้ำ ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายวิธีในการชื่นชมธรรมชาติให้ได้เลือก
      
       วิธีที่ตะลอนเที่ยวขอแนะนำนั้นคือกิจกรรม “ล่องเรือแม่น้ำกก” โดยเป็นวิธีที่สามารถชมความงดงามของธรรมชาติ ที่พูดได้ว่าครบทุกมุมมอง ซึ่งสามารถที่จะได้เห็นทัศนียภาพได้ทั้งแม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ และยังสัมผัสอากาศบริสุทธิ์และลมเย็นสบายระหว่างเส้นทางการล่องเรือ ซึ่งแม่น้ำกกนั้นมีต้นน้ำอยู่ในบริเวณเทือกเขาชายแดนพม่า ไหลเข้าเขตไทยที่อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ และไหลผ่านตัวเมืองเชียงรายไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน

ทัศนียภาพระหว่าง “ล่องเรือแม่น้ำกก”

       เส้นทางล่องเรือนั้นจะเริ่มจากสะพานแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นท่าจอดเรือรับจ้างที่มีเรือไว้ให้บริการอยู่หลายลำ ระยะเวลาในการล่องเรือนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตลอดสองฝากฝั่งของแม่น้ำกกนั้น เราจะได้เห็นทัศนียภาพที่งดงามของป่าเขา และวิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนี้ระหว่างทางยังสามารถแวะชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น อีก้อ ลีซอ หรือจะแวะบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเพื่อนั่งช้างชมวิว, วนอุทยานโป่งน้ำร้อนห้วยหมากเลี่ยมชมบ่อและห้องอาบน้ำแร่ได้อีกด้วย

นั่งช้างชมธรรมชาติที่ “บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร”

       ระหว่างเส้นทางการล่องเรือนั้น ตะลอนเที่ยวได้แวะเที่ยวที่ “บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร” เพื่อที่จะมาเปลี่ยนพาหนะในการชมธรรมชาติของจังหวัดเชียงรายด้วยการนั่งช้าง ที่ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางชาวเขาในแถบอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นที่ตั้งของบ้านชาวกะเหรี่ยง ชาวเขาเผ่าอาข่าและลาหู่ ซึ่งได้ร่วมกันเปิดเป็นปางช้างไว้บริการนักท่องเที่ยว สำหรับนั่งเพื่อเที่ยวชมธรรมชาติและหมู่บ้านชาวเขา
บรรยากาศระหว่างนั่งช้างชมธรรมชาติ

       การนั่งช้างชมวิวทิวทัศน์นั้น นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการเที่ยวชมธรรมชาติของจังหวัดเชียงราย เพราะนอกจากจะได้เห็นทั้งแม่น้ำและขุนเขาแล้ว เราได้ใกล้ชิดกับช้างสัตว์ใหญ่ใจดีที่จะพาเราเดินเที่ยวไปตามแม่น้ำกก ซึ่งสามารถเห็นทัศนียภาพได้อย่างกว้างไกล และระหว่างทางก็จะมีชาวบ้านมายืนขายผัก-ผลไม้สำหรับให้ช้างกิน ซึ่งเราก็ไม่ลืมที่จะซื้อเพื่อให้เป็นรางวัลสำหรับพาหนะยักษ์ใหญ่ใจดีกิน
นั่งจิบชาชมวิวทิวทัศน์ที่ “ไร่ชาฉุยฟง”

       เสร็จจากภารกิจตะลอนเที่ยวชมความงามธรรมชาติกันแล้ว ก็จะขอปิดท้ายเพื่อไปพักให้หายเหนื่อยกันที่นอกเขตเมือง ซึ่งที่ที่เราจะไปกันนั้นคือ “ไร่ชาฉุยฟง” ที่ตั้งอยู่อำเภอแม่จันและอำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งที่ไร่ชาแห่งนี้เป็นเหล่งปลูกชาของบริษัทฉุยฟง ทัศนียภาพไร่ชาโดยรอบนั้นเป็นไร่ชากว้างใหญ่สุดสายตา ซึ่งมีร้านเครื่องดื่มให้บริการด้วย โดยเราสามารถที่จะนั่งจิบชาพร้อมชมวิวทิวทัศน์ไร่ชาที่ลดหลั่นเป็นขั้นบันไดตามสันเขา อีกทั้งหากใครมาได้จังหวะก็จะได้เห็นขั้นตอนการเก็บใบชาอีกด้วย หรือใครที่สนใจผลิตภัณฑ์จากใบชาก็มีให้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน
บรรยากาศการเก็บชาที่ “ไร่ชาฉุยฟง”

       เสร็จสิ้นการตะลอนเที่ยวในครั้งนี้ ก็จะขอบอกว่า ในเขตอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ของจังหวัดเชียงรายนั้น ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าสนใจอยู่อีกมากมาย หากใครที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวแล้วก็อย่าได้รอช้า เก็บกระเป๋าแล้วออกมาสัมผัสเชียงรายกันเถอะ
              ****************************************************************************************************************************************
      
       พิพิธภัณฑ์จังหวัดทหารบกเชียงราย (บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม) : เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ยกเว้นวันหยุด นักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-17.00 น.
      
       พิพิธภัณฑ์บ้านดำ : เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
      
       ดอยดินแดง : เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์) เวลา 08.30-16.00 น.
      
       บริการล่องเรือชมแม่น้ำกก : เช่าเรือเหมาลำราคา 800 บาท สามารถนั่งได้ 6 คน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
      
       บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร-นั่งช้างชมธรรมชาติ : ช้าง 1 เชือกนั่งได้ 2 คน นั่งช้างเดินรอบหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร, ลงแม่น้ำกก ครึ่งชั่วโมง ราคา 200 บาท, นั่งช้างเดินรอบหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร, บ้านชาวเขา, ลงแม่น้ำกก 1 ชั่วโมง ราคา 400 บาท


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตามรอยพระเบญจภาคี ต้นกำเนิดพระดียอดปรารถนาของเหล่าเซียนพระ

ตามรอยพระเบญจภาคี ต้นกำเนิดพระดียอดปรารถนาของเหล่าเซียนพระ
  

พระเบญจภาคี กลาง : พระสมเด็จวัดระฆัง ซ้ายบน : พระรอด ขวาบน : พระซุ้มกอ ซ้ายล่าง : พระนางพญา ขวาล่าง : พระผงสุพรรณ

       สุดยอดพระเครื่องที่ได้รับยกย่องจากเซียนพระว่าหายากและมีมูลค่าสูงยิ่ง ก็คือ “พระเบญจภาคี” หรือพระเครื่อง 5 องค์ อันได้แก่ “พระสมเด็จวัดระฆัง” “พระรอด” “พระนางพญา” “พระผงสุพรรณ” และ “พระซุ้มกอ” ซึ่งนับว่าเป็นพระเครื่องเก่าแก่ และเชื่อกันว่ามีพุทธคุณสูง จะปกป้องคุ้มภัยแก่ผู้ครอบครองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย รวมไปถึงด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย
      
       ในวันนี้ที่จะกล่าวถึงพระเบญจภาคี ไม่ได้จะพูดถึงวิธีดูพระจริงหรือพระปลอม ไม่พูดถึงค่าเช่าบูชาว่าแพงระยับแค่ไหน แต่จะพาไปตามรอยพระเบญจภาคีว่ามีต้นกำเนิดที่ใด และจะพาไปชมวัดต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับพระเครื่องแต่ละองค์

เข้ามากราบรูปหล่อหลวงพ่อโตที่วัดระฆัง
 

      “พระสมเด็จวัดระฆัง”
      
       “พระสมเด็จวัดระฆัง” ถือได้ว่าเป็น “ราชาแห่งพระเครื่อง” และเป็นองค์ประธานแห่งพระเบญจภาคี พระสมเด็จวัดระฆังสร้างโดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี หรือ “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีผู้คนเคารพนับถือมาจนปัจจุบัน และท่านยังเคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดระฆังโฆษิตาราม วัดสำคัญในฝั่งธนบุรี
      
       กล่าวกันว่า เมื่อหลวงพ่อโตได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร เมืองซึ่งมีพระเครื่องอันมีพุทธศิลป์งดงาม ท่านสามารถอ่านศิลาจารึกที่ว่าด้วยกรรมวิธีการสร้างพระเครื่องด้วยเนื้อผงขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ โดยมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอื่นๆ อีกมากมาย นำมาสร้างเป็นพระสมเด็จ และกลายเป็นพระเครื่องล้ำค่าสุดยอดปรารถนาของนักเล่นพระทุกคน
      
       แม้ใครไม่มีโอกาสได้เช่าบูชาพระสมเด็จวัดระฆังของแท้ แต่ก็สามารถมากราบหลวงพ่อโตผู้ที่สร้างพระสมเด็จวัดระฆังกันได้ โดยภายในวัดมีวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อโตให้พุทธศาสนิกชนมาสักการะกัน มีคนมากราบไหว้ท่านไม่ขาดสาย โดยมีเครื่องสักการะเป็นดอกไม้ มาลัยและหมากพลูต่างๆ และมาสวดมนต์ท่องคาถาชินบัญชรกัน

วัดระฆังโฆษิตาราม
 

       นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่าง ประธานในพระอุโบสถที่รัชกาลที่ 5 เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." เพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา และต้องไม่พลาดชม “ตำหนักจันทน์” หรือ หอพระไตรปิฎก ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง ซึ่งแต่เดิมเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 มาก่อน อีกทั้งยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย


พระรอดหลวง พระพุทธรูปโบราณต้นกำเนิดพระรอด แห่งวัดมหาวัน จ.ลำพูน
 

       พระรอดวัดมหาวัน
      
       “พระรอด” เป็นพระเบญจภาคีอีกหนึ่งองค์ที่เชื่อกันว่าหากผู้ใดมีไว้บูชาจะรอดพ้นแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง จึงมีคนไม่น้อยอยากได้พระรอดมาไว้บูชาคู่กาย
      
       “พระรอด” มีการขุดพบครั้งแรกราวต้นรัชกาลที่ 5 ที่วัดมหาวัน ใน อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อพระเจดีย์ในวัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงบางส่วน จึงได้พบพระพิมพ์ภายในกรุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ผู้พบในครั้งนั้นได้เรียกชื่อพระพิมพ์เหล่านั้นว่า “พระรอด” เพราะมีลักษณะคล้ายกับ “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่วัดมาแต่ดั้งเดิม

 

อุโบสถวัดมหาวัน
 

       ส่วน “พระรอดหลวง” นั้น เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่วัดมหาวันมาช้านาน ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธสิกขิ (พระศิลาดำ) พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวันขึ้นและประดิษฐานพระศิลาดำไว้ที่นี่ ต่อมาหริภุญชัยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤๅษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้างพระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลง ชาวบ้านจึงนำพระเครื่องเหล่านี้ไปบูชาและพบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงพระรอดอันเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีนั่นเอง
      
       ปัจจุบันหากใครอยากมากราบพระรอดหลวง อันเป็นต้นแบบของพระรอดแล้วละก็ สามารถมาได้ที่วิหารวัดมหาวัน โดยพระรอดหลวงเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก ประดิษฐานไว้เบื้องหน้าองค์พระประธานภายในวิหาร


 
วิหารในวัดนางพญา จ.พิษณุโลก
 

       พระนางพญา วัดนางพญา
      
       เมืองพิษณุโลก มีพระพุทธชินราชแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และมี “พระนางพญา” เป็นพระเครื่องอันโด่งดังและเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีที่มีที่มาจากเมืองพิษณุโลก เชื่อว่ามีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย
 

พระพุทธชินราชจำลองในวิหารวัดนางพญา
 

       พระนางพญามีต้นกำเนิดที่ “วัดนางพญา” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลกนัก ในอดีตวัดนางพญาเคยมีพื้นที่ติดต่อกับวัดราชบูรณะ เป็นวัดพี่วัดน้อง ใช้อุโบสถหลังเดียวกัน แต่ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนพิษณุโลก-หล่มสัก วัดทั้งสองจึงแยกกันอยู่คนละฝั่งถนน และเชื่อกันว่าผู้ที่สร้างพระนางพญาขึ้นก็คือพระวิสุทธิกษัตรี มเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กษัตริย์ในสมัยอยุธยานั่นเอง
      
       ในปี 2444 รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง จึงได้สร้างปะรำพิธีรับเสด็จที่วัดนางพญา เมื่อคนงานขุดหลุมจึงพบพระเครื่องจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “พระนางพญา” และไม่เพียงที่วัดนางพญาเท่านั้นที่พบพระนางพญา แต่ที่วัดราชบูรณะและตามกรุต่างๆ ก็พบพระนางพญาด้วยเช่นกัน


อุโบสถและวิหารหลวงวัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก
 

       ปัจจุบันคนที่มาเมืองพิษณุโลกมักจะมากราบพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพียงวัดเดียว แต่หากมีโอกาสได้เดินชมวัดนางพญา และวัดราชบูรณะ จะพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก โดยภายในวัดนางพญาจะมีอุโบสถและวิหารหลังเดียวกัน ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 2 องค์ตั้งอยู่คู่กัน
      
       ส่วนวัดราชบูรณะมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ อุโบสถ วิหารหลวง และเจดีย์หลวง อุโบสถและวิหารเป็นทรงโรงศิลปะสมัยสุโขทัย พระประธานในอุโบสถและวิหารหลวงมีรูปแบบศิลปะสุโขทัยตอนปลาย ส่วนเจดีย์หลวงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีเจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก
 


พระปรางค์หลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองสุุพรรณบุรี ต้นกำเนิดพระผงสุพรรณ        

พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
      
       ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองสุพรรณ เป็นต้นกำเนิดของ “พระผงสุพรรณ” หนึ่งในพระเบญจภาคีเลื่องชื่อ ปรากฏหลักฐานว่าพระผงสุพรรณนี้ขุดพบที่พระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อปี 2456 โดยท่านพระยาสุนทรบุรี เจ้าเมืองสุพรรณในขณะนั้นได้สั่งให้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการ เพราะมีคนร้ายเข้ามาลักลอบขุดพระปรางค์อยู่บ่อยครั้ง และได้ขโมยพระเครื่อง พระบูชา พระทองคำไปไม่น้อย รวมไปถึงแผ่นจารึกลานทองหลายแผ่น
      
       การเปิดกรุอย่างเป็นทางการในครั้งนั้น ได้พระเครื่องมากมายไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้ ทั้งพระผงสุพรรณและพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอื่นๆ อาทิ พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน ตลอดจนพระเนื้อชินต่างๆ
      
       หากใครอยากไปชมองค์พระปรางค์ที่เคยบรรจุพระผงสุพรรณก็สามารถเดินทางมาได้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี และเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณฯ องค์พระปรางค์เชื่อว่าน่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะเป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา นอกจากนั้นที่วัดยังมีวิหารพระผงสุพรรณ ที่ภายในวิหารมีพระประธานคือพระผงสุพรรณขนาดใหญ่ที่ทำจำลองขึ้นให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปไหว้พระปิดทองกันได้ด้วย
 
 พระบรมธาตุนครชุม จ.กำแพงเพชร ถิ่นกำเนิดพระซุ้มกอ

       พระซุ้มกอ กำแพงเพชร
      
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” แสดงให้เห็นว่า พระพิมพ์หรือพระเครื่องที่เมืองกำแพงเพชรนั้นมีอยู่มากมายมาช้านานแล้ว โดยพระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชรมีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะที่เกิดจากประติมากรรมของช่างสกุลกำแพงเพชร
      
       สำหรับพระซุ้มกออันเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีนั้น เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เสด็จมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร ราวปี 2392 ได้ค้นพบพระเครื่องที่วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นพระซุ้มกอจำนวนมาก และพบจารึกลานเงินกล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง พบคาถาและวิธีการในการสร้างพระเครื่อง ว่ากันว่าหลวงพ่อโตได้นำไปสร้างสมเด็จวัดระฆังอันศักดิ์สิทธิ์
      
       พระซุ้มกออยู่ในกรุทุ่งเศรษฐี ซึ่งกรุพระที่อยู่ในตระกูลทุ่งเศรษฐีมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลาง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี เป็นต้น และพระเครื่องในตระกูลนี้ ได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ ก็ได้รับเกียรติจากวงการพระเครื่องให้บรรจุอยู่ในชุดเบญจภาคีด้วย
      
       ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมอันเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับพระซุ้มกอนี้ตั้งอยู่ใน อ.เมือง แต่เดิมครั้งกรุงสุโขทัยนั้นเป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ตั้งเรียงกันสามองค์ อยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์กลางของพระเจดีย์นั้นประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ อยู่ภายในภาชนะเงินรูปสำเภา แต่ปัจจุบันมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์ทรงมอญซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นภายหลัง เป็นวัดสำคัญของเมืองกำแพงเพชรที่ไม่ควรพลาดชมอีกแห่งหนึ่ง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   

 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet